ขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน





เมื่อขึ้นทะเบียนทหารแล้ว จะได้รับ ใบสำคัญ ( แบบ สด.๙ ) เป็นหลักฐาน ถือเป็นเอกสารประจำตัวทหารกองเกินทุกคน

บุคคลที่มีสัญชาติไทยเมื่ออายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกิน ( ขึ้นทะเบียนทหาร) ตามภูมิลำเนาของบิดา
ถ้าบิดาถึงแก่กรรมให้ลงบัญชีทหารกองเกินตามภูมิลำเนาของมารดา
ถ้าบิดา มารดาถึงแก่กรรมให้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามภูมิลำเนาของผู้ปกครอง
และเมื่อลงบัญชีทหารกองเกินเสร็จแล้วจะได้รับใบสำคัญ (แบบ สด.๙)
ให้ไปแสดงตนขอลงบัญชีทหารกองเกิน ณ หน่วยสัสดีอำเภอ / เขต ( ที่บิดามีทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอนั้น )
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงต่อสัสดีเขตเพื่อขอลงบัญชีทหารกองเกิน มีดังนี้.-
๑. บัตรประจำตัวประชาชน ( ตัวจริง )
๒. สำเนาทะเบียนบ้าน (ของตัวผู้ขอลงบัญชี ฯ) (เล่มจริงฉบับเจ้าบ้าน)
๓. สำเนาทะเบียนบ้าน (ของบิดา) (เล่มจริงฉบับเจ้าบ้าน)
หรือ ใบมรณะบัตร + สำเนาทะเบียนบ้าน(ของมารดา) (เล่มจริงฉบับเจ้าบ้าน) กรณีที่บิดาถึงแก่กรรม
๔. สุติบัตร (ใบเกิด)




" ขึ้นทะเบียนทหาร" จะทำอย่างไร
ท่านเกิดเป็นลูกผู้ชาย มีหน้าที่อย่างหนึ่งคือ เป็นทหารรับใช้ชาติ โดยจะต้องไปขึ้นทะเบียนทหาร แล้วก็เกณฑ์ทหาร ส่วนจะได้เป็น ทหารหรือไม่ได้เป็น แล้วแต่จะจับสลากได้ใบแดง หรือใบดำ ตามภาษาชาวบ้าน เรียก " ขึ้นทะเบียนทหาร " แต่ภาษาทางราชการ เรียก "ลงบัญชีทหารกองเกิน"
1. ชายที่มีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุครบ 17 ปี ต้องไปขึ้นทะเบียนทหาร
2. โดยเอา 17 บวก พ.ศ.เกิด ผลลัพท์ที่ได้จะเป็น พ.ศ. ที่จะต้องไปขึ้นทะเบียนทหาร เช่น คนเกิด พ.ศ.2538 บวก 17 จะได้ 2555 หมายความว่า ผู้ที่เกิด พ.ศ.2538 จะต้องไปขึ้นทะเบียนทหารตั้งแต่ มกราคม 2555 ถึง ธันวาคม 2555 ภายในกำหนดนี้ไม่ต้องเสียค่าปรับถ้าเลยกำหนดนี้ คือ เดือนมกราคม 2556 ต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 300 บาท(ส่วนมากจะปรับ 100 บาท)
3. ตรวจสอบดูว่า ทะเบียนบ้านของพ่อ อยู่อำเภอ หรือเขตใด ให้ไปขึ้นทะเบียนทหาร ตามอำเภอที่พ่อ มีทะเบียนบ้านอยู่ ถ้าพ่อตาย, หย่ากับแม่ หรือหายสาปสูญ แล้วลูกอยู่ในความดูแลของแม่ ให้ไปขึ้นทะเบียนที่อำเภอ ที่แม่มีทะเบียนบ้านอยู่ ถ้าพ่อแม่ตาย ให้ไปขึ้นที่อำเภอของผู้ปกครอง
4. หลักฐานและเอกสารจะต้องนำมาด้วย
4.1 สำเนาทะเบียนบ้านของตนเอง
4.2 สำเนาทะเบียนบ้านของพ่อ, แม่ หรือ ผู้ปกครอง
4.3 บัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง (สำเนาทะเบียนบ้านกับบัตรประชาชน ต้องนำมาด้วย ขาดไม่ได้)
4.4 ใบสูติบัตร หรือ ใบเกิด ของตนเอง (ถ้าไม่มีไม่ต้องนำมาก็ได้)
4.5 ใบมรณบัตรของพ่อหรือแม่ (ถ้าพ่อหรือแม่เสียชีวิตก็เอาไป ถ้ายังมีชีวิตก็ไม่ต้องเอาไป)
5. ท่านลองทบทวนดูซิว่า ตั้งแต่ข้อ 1 ถึง ข้อ 4.5 ท่านพร้อมหรือยัง เมื่อพร้อมแล้ว นำหลักฐานเอกสาร ไปที่ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต ตรงไปหา " เจ้าหน้าที่สัสดี " ซึ่งจะแต่งเครื่องแบบทหารบก (สีเขียวขี้ม้า) เป็นทหาร " แต่ทำงานอยู่บนที่ว่าการอำเภอ " ถ้าอยากรู้ว่า ยศอะไร ให้ดูที่บ่า หรือ อินทรธนู ถ้ามีดาวสองดวง และมีมงกุฎครอบ แสดงว่ายศ พันโท คนนี้แหละเป็น " หัวหน้า " หรือ เรียกตามภาษาราชการ ว่า สัสดีอำเภอ หรือ สัสดีเขต ตามเภอใหญ่ๆ หรือ 50 เขตของกทม. มีสัสดีอำเภอ หรือ สัสดีเขต มียศพันโท ส่วนอำเภอเล็กๆสัสดีอำเภอ มียศพันตรี มีดาวเดียวมงกุฏครอบ บางทีเขาเรียกกันเล่นๆ ว่า "ผู้พัน" ส่วนที่มี สามดาว ยศร้อยเอก เรียก "ผู้กอง" มีสองดาว ยศร้อยโท มีดาวเดียว ยศร้อยตรี เรียก "ผู้หมวด" นอกจากนี้ยังมีจ่า และหมู่อีก เมื่อไปพบ "สัสดี" แล้ว ก็บอกเขาว่า "ผมมาขึ้นทะเบียนทหารครับ" อย่าไปบอกเขาผิดนะครับ ว่า มารับหมายเกณฑ์ หรือ อะไรอย่างนี้ จะ
ทำให้ สัสดีงง หรือเข้าใจผิดไป พร้อมทั้งยื่นหลักฐานเอกสาร ที่เรานำมาให้ เขาก็จะตรวจสอบเอกสารว่า อายุถูกต้องไหม บิดาอยู่อำเภอหรือเขตนี้หรือเปล่าอายุเกินกำหนดขึ้นทะเบียนทหารหรือเปล่า ถ้าเกินเขาก็ส่งตัวไปจ่ายค่าปรับเมื่อตรวจสอบแล้ว ถ้ามีปัญหาอะไร เขาก็จะชี้แจงให้ฟัง ท่านก็ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นแต่ถ้าไม่มีปัญหาใดๆ เจ้าหน้าที่ ก็จะให้ท่าน เขียนคำร้อง หรือ ใบแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน(แบบสด.44)
ท่านต้องกรอก ชื่อ นามสกุล เกิด พ.ศ. ชื่อบิดา ชื่อมารดา อยู่บ้านเลขที่ ถนน ตรอก ซอย หมู่ที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด ลงไป และ เลขที่สูติบัตร (ถ้ามี) เลขที่บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านสงสัยตรงไหน ก็ถามเจ้าหน้าที่ได้เมื่อกรอกเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่เขาจะดำเนินการ ขึ้นทะเบียนทหารให้ ท่านและ ท่านก็จะได้ หลักฐานสำคัญ เรียกว่า "ใบสำคัญ" หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า "สด.9 " ใบนี้แหละสำคัญนัก ท่านก็ต้องเก็บไว้ให้ดี อย่าให้หายเป็นอันขาด ถ้าหายต้องขอใบแทนภายใน 30 วัน เมื่อท่านได้รับ ใบสด.9 มาแล้ว ลองตรวจดูสักนิด ว่า ชื่อ นามสกุล ชื่อพ่อ ชื่อแม่ บ้านเลขที่ เขียนถูกไหม ถ้าไม่ถูกต้อง ก็บอกให้เจ้าหน้าที่เขาแก้ไขให้ทันที จะแก้ไขได้ง่าย ถ้าปล่อยนานไปจึงมาขอแก้ จะแก้ไข ลำบาก และให้อดทนอ่าน "คำเตือน" ด้านหลังสักนิด จะมีประโยชน์ต่อท่านมาก โดยเฉพาะข้อ1. ที่ว่า "ให้ไปขอรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร ใน พ.ศ........." นี้แหละสำคัญซึ่งจะกล่าวต่อไป
เมื่อท่านได้ ใบสด.9 มาแล้ว แสดงว่า ท่านมี "ภูมิลำเนาทหาร" อยู่ในอำเภอนี้แล้ว คำว่า "ภูมิลำเนาทหาร" (คือ ที่อยู่ของทหารกองเกิน) มีได้เพียงแห่งเดียว ท่านจะไปขึ้นทะเบียน ทหารที่อำเภออื่น ไม่ได้อีกแล้ว สำหรับท่านที่มีอายุ 18 ปี ถึงอายุ 45 ปี ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนทหาร ให้ทำเช่นเดียวกัน แต่ต้องเสียค่าปรับ ไม่เกิน 300 บาท
credit by http://sadsadeekatekhannayao.igetweb.com/index.php?mo=3&art=592212
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น